วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อฝึกทักษะทางภาษา


การนำคอมพิวเตอร์มาช่วยสอนเป็นวิธีจัดการเรียนการสอนวิธีหนึ่งที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวถ่ายทอดเนื้อหาหรือบทเรียนไปสู่ผู้เรียน มีบทบาทในการช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มากขึ้น และสามารถตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างผู้เรียนได้ จึงทำให้ปัจจุบันมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างกว้างขวาง คำที่นิยมใช้เรียกคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมี 2 คำ คือ CAI : Computer-Assisted Instruction กับ CAL : Computer-Assisted Learning โดยคำว่า CAI นิยมใช้ในสหรัฐอเมริกา และ CAL นิยมใช้ในยุโรป แต่มีความหมายอย่างเดียวกัน (วสันต์ จันทโรภพ 2536 : 12-13) และต่อมาได้มีการพัฒนานำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ มีชื่อเรียกว่า CALL : Computer-Assisted Language Learning (ผ่าน บาลโพธิ์ 2534) มีผู้กำหนดความหมายของ CALL ไว้หลายอย่าง
สามารถสรุปได้ว่า หมายถึงเทคโนโลยีสื่อการสอนที่ทันสมัยซึ่งอยู่ในรูปของซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ ที่ครูใช้เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาของผู้เรียนที่มีความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน โดยใช้เพียงสื่อการสอนชนิดหนึ่งในชั้นเรียนเท่านั้น ไม่สามารถใช้สอนแทนครูทั้งหมดได้
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนภาษามีการพัฒนาควบคู่กับทฤษฎีทางการเรียนรู้และวิธีการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งวอร์ชาเออร์ (Warchauer อ้างอิงใน Torut 1999) ได้แบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้
1. คอมพิวเตอร์ช่วยสอนภาษาในยุคพฤติกรรมนิยม (Behavioristic CALL) ยึดถือทฤษฎีการเรียนรู้แบบพฤติกรรมนิยม ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนซ้ำ ๆ ซอร์ฟแวร์ส่วนใหญ่เป็นแบบฝึกหัดเพื่อปฏิบัติและฝึกฝน คอมพิวเตอร์เป็นเหมือนผู้ช่วยสอน (Tutor) กิจกรรมในการเรียนรู้ส่งเสริมความถูกต้องของภาษามากกว่าความคล่องแคล่วในการใช้ภาษา มีจุดอ่อนที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในเชิงเหตุผลและการสอนจากทั้งนักทฤษฎีและนักปฏิบัติ
2. คอมพิวเตอร์ช่วยสอนภาษาในยุคภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative CALL) ให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่แท้จริงมากกว่าการฝึกฝนและการทำแบบฝึกหัด นำเสนอกิจกรรมทุกอย่างบนคอมพิวเตอร์ ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาในสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่มีรูปแบบของการฝึกฝนภาษาซ้ำ ๆ ใช้วิธีการสร้างข้อความใหม่ ๆ ในการอ่านเพื่อชี้นำ ให้แบบฝึกหัดเติมคำในช่องว่าง มีจุดอ่อนที่คอมพิวเตอร์ยังไม่ได้บูรณาการเข้ากับหลักสูตรอย่างเต็มที่ การนำมาใช้ส่วนใหญ่เป็นการทดลอง ยังไม่ได้ใช้เป็นพื้นฐานของการศึกษาโดยรวม
3. คอมพิวเตอร์ช่วยสอนภาษาในยุคบูรณาการแบบสื่อหลากหลาย (Integrative CALL Multimedia CD-ROM) ซอฟแวร์ประกอบด้วยสื่อหลายประเภท เช่น ข้อความ ภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว และเทปโทรทัศน์ มีการพัฒนาซอฟแวร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม เช่น Toolbook, Authoware และ Director ให้ใช้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างจากแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อสร้างแรงจูงใจจากภายในของนักเรียน กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์ มีการรวบรวมสื่อหลายหลายไว้ด้วยกัน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และประเมินความก้าวหน้าได้ด้วยตนเอง สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ภาษาอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงมากขึ้น ผู้เรียนได้ใช้ทักษะทั้งสี่ด้านของภาษา คือ ฟัง พูด อ่าน และเขียน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้บทเรียนต่าง ๆ เช่น คำอธิบายไวยากรณ์ อภิธานศัพท์ การออกเสียง และแบบฝึกหัด เป็นต้น
4. คอมพิวเตอร์ช่วยสอนภาษาในยุคบูรณาการอินเตอร์เนต (Integrative CALL-Internet) มีลักษณะเป็นที่รวบรวมสื่อหลากหลายประเภทจากอินเตอร์เนต เช่น ข้อความ รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว และวีดีทัศน์ มีการเชื่อมแหล่งความรู้ต่าง ๆ ทางอินเตอร์เนตเข้าด้วยกันด้วยความเร็วสูง ยึดตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร สร้างแรงจูงใจจากภายในของนักเรียนเพื่อการสื่อสารที่เป็นธรรมชาติ กระตุ้นให้มีกิจกรรมระหว่างผู้เรียนและผู้ใช้อินเตอร์เนตทั่วโลก สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ภาษาอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงมากขึ้น ผู้เรียนได้ใช้ทักษะทั้งสี่ด้านของภาษา ให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่หลากหลายและวัฒนธรรมที่ต่างกัน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถแบ่งเป็น 7 ประเภท ดังนี้ (Torut 1999 ; วารินทร์ รัศมีพรม 2531 ; Heinich, Molenda and Russell 1993) คือ
1. แบบฝึกหัดหรือปฏิบัติ (Drill and Practice)
2. แบบสอนเนื้อหา (Tutorial)
3. แบบสถานการณ์จำลอง (Simulation)
4. แบบสาธิต (Demonstration)
5. แบบเกมการสอน (Instructional Games)
6. แบบทดสอบ (Test)
7. แบบแก้ปัญหา (Problem Solving)
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีประโยชน์มากมายทั้งต่อผู้สอน ผู้เรียนและการจัดการเรียนการสอน ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนภาษาอังกฤษคือสื่อการสอนที่เป็นผู้ช่วยครูในการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ทางภาษา และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน นักเรียนสามารถเลือกบทเรียนที่เหมาะสมกับตัวเองได้ และมีการเรียนรู้เป็นขั้นตอนตามโปรแกรม (ประพันธ์ กาวิชัย 2540 ; กิดานันท์ มะลิทอง 2536 ; กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์ 2536 ; สมบูรณ์ บูรณ์ศิริรักษ์ 2539 ; Galavis 1998 ) แต่ในขณะเดียวกัน คอมพิวเตอร์เป็นเพียงเครื่องจักรชนิดหนึ่ง ย่อมต้องมีข้อจำกัด เช่น ต้องมีการลงทุน โปรแกรมคอมพิวเตอร์มีน้อย เพิ่มภาระแก่ผู้สอนในการจัดเตรียมโปรแกรม บทเรียนมีการจัดลำดับการเรียนอย่างตายตัว ครูผู้สอนภาษามักขาดความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ บทเรียนคอมพิวเตอร์ทำให้นักเรียนขาดทักษะทางสังคม เป็นต้น (โชคชัย นันทะ 2540 ; สุพัฒน์ สุกมลสันต์ 2531 ; กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์ 2536 ; Galavis 1998) ดังนั้น การนำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมาใช้ในชั้นเรียนจึงต้องคำนึงถึงข้อจำกัดที่มีของสื่อประเภทนี้ด้วย
http://web.bsru.ac.th/~tassanai/data1/kasama.doc

ไม่มีความคิดเห็น: